Friday, September 6, 2013

สิทธิเก็บกิน

สิทธิเก็บกิน
(usufruct in Thailand)

เป็นสิทธิอย่างหนี่งที่คล้ายคลึงกับสิทธิอาศัย แต่ในความหมายโดยนัยแล้ว สิทธิเก็บกินนั้นจะมีความหมายที่กว้างกว่า สิทธิอาศัย โดยสิทธิเก็บกินเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นในอสังหาริมทรัพย์ ที่ผู้ทรงสิทธินั้นมีสิทธิครอบครอง ใช้ และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินนั้น และผู้ทรงสิทธิยังมีอำนาจที่จะจัดการทรัพย์สินอีกประการหนึ่งด้วย

ระยะเวลา
สิทธิเก็บกินนั้น หากไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาให้ กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า สิทธิเก็บกินมีอยู่จนกว่าผู้ทรงสิทธิจะถึงแก่ความตาย แต่ถ้าได้กำหนดว่าให้มีเวลาเท่าใดก็ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เช่น กำหนดระยะเวลาไว้ 20 ปี ผู้ทรงสิทธิเก็บกินก็สามารถมีสิทธิในอสังหาริมทรัพย์นั้น 20 ปี หลังจากนั้นสิทธินี้ก็จะสลายไปตามกำหนดเวลาที่ได้กำหนดกันไว้ และสามารถจดทะเบียนสิทธิเก็บกินได้ในกำหนดระยะเวลาสูงสุดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นั่นคือ 30 ปี

สิทธิของผู้ทรงสิทธิ
-หากทรัพย์สินเสื่อมราคาหรือทรุดโทรมลงไปตามปกติธรรมดาของการใช้ ผู้ทรงสิทธิเก็บกินไม่จำเป็นต้องใช้ค่าเสื่อมราคาหรือให้ค่าทดแทนในการใช้ทรัพย์นั้น
-ผู้ทรงสิทธิสามารถโอนทรัพย์สินนั้นให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้
-ผู้ทรงสิทธิเก็บกินอาจร้องขอให้เจ้าของเข้าซ่อมแซมทรัพย์ที่เป็นการซ่อมแซมใหญ่ หากเจ้าของละเลย ผู้ทรงสิทธิเก็บกินอาจต้องซ่อมแซมเอง แต่ไม่ตัดสิทธิของผู้ทรงที่จะเรียกเงินที่ซ่อมแซมไปที่ตนได้ออกให้จากเจ้าของทรัพย์
-ค่าใช้จ่ายทั่วไปที่เกิดขึ้นมากกว่าปกตินั้น เจ้าของจะต้องเป็นผู้ออก
หน้าที่ของผู้ทรงสิทธิ
-ผู้ทรงสิทธิมีอำนาจจัดการทรัพย์สิน มีสิทธิครอบครอง ใช้ และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินนั้น
-ผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่เจ้าของ เมื่อสิทธิเก็บกินนั้นสิ้นลง 
-เมื่อทรัพย์สินนั้นสลายไป หรือเสื่อมราคาลง อันเกิดจากความผิดของผู้ทรงสิทธิ ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของ
-ผู้ทรงสิทธิต้องทำให้ทรัพย์สินกลับมีมาแทนอันเดิม หากตนได้ใช้สิทธิเก็บกินไปแบบสิ้นเปลืองโดยไม่ปกติ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวทรัพย์หรือผู้เป็นเจ้าของ
-ผู้ทรงสิทธิต้องรักษาทรัพย์สินเสมอกับที่วิญญูชนพึงรักษาทรัพย์สินของตนเอง เมื่อผู้ทรงสิทธิได้ใช้ทรัพย์สินแล้ว ก็จะต้องดูแลรักษาในระดับที่เสมือนว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของตนเอง
-หากเจ้าของร้องขอ ให้ผู้ทรงสิทธิหาประกันให้อันเนื่องมาจากการที่ผู้ทรงสิทธิใช้สิทธิโดยมิชอบ อันทำให้ทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในภยันตราย เจ้าของก็มีสิทธิขอให้หาประกันมาได้ แต่หากผู้ทรงสิทธิยังละเลยไม่หาประกันมาให้ภายในระยะเวลาอันสมควรแล้วนั้น ผู้เป็นเจ้าของอาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้รักษาทรัพย์สินเพื่อจัดการทรัพย์สินแทนผู้ทรงสิทธิก็ได้
-ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะต้องดูแลรักษาทรัพย์ให้เหมือนเดิม กับทั้งจะต้องซ่อมแซมอันเป็นการเล็กน้อยด้วย
-ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการจัดการทรัพย์สิน รวมถึงเสียภาษีอากร
-ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะต้องเอาทรัพย์สินนั้นประกันวินาศภัยไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของด้วย โดยผู้ทรงจะต้องเป็นผู้เสียเบี้ยประกันระหว่างที่ตนยังมีสิทธิอยู่

ความรับผิดของผู้ทรงสิทธิ
คดีเกี่ยวกับสิทธิเก็บกินในระหว่างเจ้าของทรัพย์สินกับผู้ทรงสิทธิเก็บกิน หรือผู้รับโอนนั้น ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อเกิน 1 ปีนับแต่วันสิทธิเก็บกินสิ้นสุดลง

เหนือสิ่งอื่นใด หากต้องเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขในเรื่องของข้อรับผิด สิทธิหรือหน้าที่ สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยการทำข้อตกลงหรือข้อสัญญายกเว้นไว้ได้ หากข้อตกลงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน